พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่

 

มาเยือนเชียงใหม่ก็ต้องถือโอกาสแวะเวียนไปกราบสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือที่เรียกกันสั้นๆกันทั่วไปว่า อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใจกลางเชียงใหม่ อยู่ติดกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (ศาลากลางเก่าจังหวัดเชียงใหม่) และวัดอินทขีลสะดือเมือง อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหน้าศาลากลางหลังเก่า ถนนพระปกเกล้า และเป็นสถานที่ที่ชาวเชียงใหม่หรือนักท่องเที่ยวต่างมาสักการะบูชา อนุสาวรีย์สามกษัตริย์แห่งนี้ หากเราหันหน้าเข้าหาอนุสาวรีย์จะพบว่า องค์กลาง คือ พญามังราย องค์ขวาคือ พญาร่วง ส่วนองค์ซ้ายคือ พญางำเมือง กษัตริย์ทั้งสามพระองค์นี้ถือได้ว่าเป็นผู้สร้างอาณาจักรล้านนา และนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมากว่า 700 ปี นับว่าเป็นองค์อนุสาวรีย์ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 

 

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์นี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสามกษัตริย์ผู้สร้างจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน กล่าวคือ พญามังราย (เม็งราย) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ผู้รวบรวมแคว้นและเมืองต่างๆเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทย และพญางำเมือง กับ พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากนิ้วพระหัตถ์ เพื่อเป็นทัฬหมิตรสนิทแนบแน่น ครั้นพญามังรายเมื่อได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ภายหลังทรงพบชัยภูมิเมืองอันเป็นมงคล เป็นที่ราบริมแม่น้ำปิงกับเขาดอยสุเทพ จงได้เชิญพระสหายทั้งสองมาร่วมปรึกษาหารือและทรงเห็นชอบร่วมกันสร้างเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” 

 

 

ในปี พ.ศ. 2526 ชาวเชียงใหม่จึงได้ร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ นี้เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์ชั่วกาลนานเท่านาน หล่อด้วยทองเหลืองและทองแดงรมดำ มีขนาดเท่าครึ่ง โดยมีความสูง 2.70 เมตร ออกแบบและทำการปั้นหล่อโดยอาจารย์ ไข่มุกด์ ชูโต บริเวณที่ตั้งของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์นี้ถือได้ว่าเป็น ศูนย์กลางของตัวเมืองเชียงใหม่ หน้าอนุสาวรีย์มีลานกว้างขนาดใหญ่ เรียกว่า “ข่วงสามกษัตริย์” หรือ “ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์”

 

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กษัตริย์ทั้งสามพระองค์  เมื่อครั้งหาชัยภูมิในการสร้างนพบุรีศรีนครพิงค์ราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนา  พญามังรายมหาราช  กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา  กับสองพระสหายพ่อขุนรามคำแหง  มหาราชกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย  และพญางำเมืองกษัตริย์แห่งภูกามยาว  ทั้งสามพระองค์ได้ดื่มน้ำสาบานบริเวณแม่น้ำอิง  ว่าจะไม่รุกรานเมืองต่อกัน  องค์สามกษัตริย์หล่อด้วยทองแดงและทองเหลืองรมดำมีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง  เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวทัวไป

 

ประวัติข่วงสามกษัตริย์

 

 

พ่อขุนเม็งราย หรือที่คนล้านนารู้จักกันในนาม พญามังราย เป็นราชโอรสของ พระเจ้าลาวเมง แห่งราชวงศ์ลวจักราช ผู้ครองหิรัญนครเงินยาง กับ พระนางอั้วมิ่งจอมเมือง หรือ พระนางเทพคำ ขยาย ราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าเมืองเชียงรุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุนเอกศกจุลศักราช 601 ตรงกับพุทธศักราช 1781 เมื่อมีพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระบิดาได้สู่ขอ ธิดาเจ้าเมืองเชียงเรืองมาเป็นคู่อภิเษกแล้วโปรดให้เมงรายเป็นมหาอุปราช เมื่อพระเจ้าลาวเมงสวรรคตในปี พ.ศ.1802 เมงรายราชโอรสจึงได้ครอง เมืองหิรัญนครเงินยาง สืบแทน ในขณะที่มีพระชนม์ 21 พรรษา (ที่มาข้อมูล: เว็บไซต์เชียงใหม่นิวส์)

 

พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงพระบรมเดชานุภาพมากเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ได้กระทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชนเจ้า เมืองฉอด ปรากฏพระเกียรติยศไพศาลเป็นที่คร้ามเกรงแก่บรรดาหัวเมืองต่างๆ สมัยนั้น พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณา ประชาราษฎร์ให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทุกถ้วนหน้า และได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อปี พ.ศ. 1826 ซึ่งใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทรงครองราชย์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1822 และสิ้นพระชนม์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1842

 

พญางำเมือง ประสูติเมื่อปีจอ พ.ศ. 1781 ทรงปกครองเมืองพะเยาสืบต่อจากพญามิ่งเมืองพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. 1801 เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาศิลปวิทยาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกับพญามังราย จึงเป็นพระสหายสนิทแต่นั้นมา พระองค์ทรงอานุภาพเสมอ เท่าเทียมกันในการปกครองบ้านเมืองนั้น ได้ทรงใช้วิเทโศบายผูกมิตรไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง บ้านเมืองจึงร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

 

พระราชาธิราชทั้งสามพระองค์ ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณผูกมิตรทรงดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากนิ้วพระหัตถ์ เพื่อเป็นมิตร น้ำร่วมสาบานไม่เป็นศัตรูต่อกัน ณ ฝั่งแม่น้ำอิง เขตเมืองพะเยา เมื่อพญามังรายได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ต่อมาได้ทรงสร้างเมืองฝางและตีได้เมืองหริภุญไชยจากพญายีบาได้สร้าง เวียงกุมกาม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสารภี ภายหลังทรงพบชัยภูมิเมืองอันเป็นศุภนิมิตรมงคล 7 ประการ เป็นที่ราบริมน้ำปิงกับ ดอยสุเทพ พญามังรายจึงได้เชิญพระสหาย คือ พญาร่วงและพญางำเมืองมาร่วมปรึกษาหารือ ตั้งพิธีกัลปบาตฝังนิมิตหลักเมือง ในวันพฤหัสบดี เพ็ญเดือน 6 พ.ศ. 1839 จันทร์เสวยฤกษ์ 16 ยามแตรจักใกล้รุ่งไว้ลัคนาเมืองในราศรีมินอาโปธาตุ สร้างเสร็จในปีเดียวกันขนานเมืองใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เมืองเชียงใหม่" ซึ่งก็คือเมืองเชียงใหม่ดินแดนแห่งล้านนาไทยในปัจจุบัน

 

ที่มาข้อมูล: เว็บไซต์ Thailand Tourism Directory
https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/331

 

ถ่ายภาพ & เล่าเรื่อง:
ครูเจี๊ยบ OPPY CLUB

 

Visitors: 189,479