ชีวิตทันสมัย ไม่จำกัดวัย

ปัจจุบันเทคโนโลยีหรือเรื่องอินเทรนด์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยทีนเท่านั้น ทว่าการอัพเดตข้อมูลข่าวสารต่างๆ รอบตัวก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกวัย ยิ่งใครที่เลยวัยแรกแย้มมานานจนล่วงเข้าสู่วัยทองด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรปล่อยให้ชีวิตต้องหลุดจากวงโคจรของความทันสมัย เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้จิตใจและความสดใสหายไปกับวัยโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงกระนั้นจะทำอย่างไรให้ชีวิตทันสมัยโดยไม่รู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยหน่ายกับมัน วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ จากคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช และพรพรรณ บุลเนอร์ สองแอมบาสเดอร์งาน “สมาร์ต แอนด์ แฮปปี้ 50 อัพ” (Smart & Happy 50 up) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2550 ที่อาคาร 3 - 4 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

คุณหญิงชัชนีจาติกวนิชประธานชมรม OPPY (Old People Playing Young) หรือชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคือ ความเหงาและว้าเหว่ เมื่อเกิดความเหงาขึ้นมาก็มักจะคิดอะไรต่อมิอะไรยุ่งไปหมด จึงทำให้เกิดผลกระทบกับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ทั้งยังส่งผลต่อลูกหลาน ดังนั้นสิ่งแรกที่คนในวัยนี้พึงระลึกถึงคือ ปรับทัศนคติตนเอง

 

จากเดิมที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร ใช้รถเบนซ์ มีบริวารมากมาย ก็ต้องเตรียมใจยอมรับกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออายุมากขึ้นเราอาจจะหันมาใช้รถญี่ปุ่นแทน หรือเปลี่ยนจากการอยู่บ้านใหญ่โต วุ่นวาย มาอยู่บ้านที่เล็กลงแต่ก็สุขสบายดี ทั้งนี้ผู้สูงอายุจะต้องไม่ยึดติดว่าเมื่อก่อนเคยเป็นอย่างไร ตอนนี้ต้องเป็นอย่างนั้น โดยต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมแล้วหาอะไรที่ชอบทำ หรือหากไม่ชอบก็ต้องหากิจกรรมที่ช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างเหมาะสม 

 

ก่อนอื่นต้องไม่บอกว่าตัวเองแก่ฉันทำไม่ได้ความแก่ของตัวไม่ได้หมายความว่าจะทำอย่างอื่นไม่ได้ เช่น เมื่อก่อนเคยตีเทนนิสได้ แต่เดี๋ยวนี้ตีไม่ได้ ก็ทำไมไม่ไปตีกอล์ฟแทนล่ะ เราต้องปรับทัศนคติก่อน เมื่อก่อนดิฉันไม่มีเวลาทำอาหารทำกับข้าว เดี๋ยวนี้พอมีเวลา เราก็ทำอาหารแจกลูกหลานก็ได้ หรือทำอะไรที่ช่วยสังคม องค์กรต่างๆ ไม่กลัวหรือเขินจนเกินไปที่จะขอเข้าไปช่วยเขา”

 

ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา

แม้จะเป็นสุภาพสตรีวัยใกล้ 80 ปี แต่คุณหญิงชัชนี กลับไม่อยู่เฉย พยายามใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ให้กับตนเองตลอดเวลา โดยการใฝ่หาความรู้นั้นต้องดูว่าโลกได้วิวัฒนาการไปในด้านใดบ้าง เช่น เรื่องของคอมพิวเตอร์ เหตุนี้คุณหญิงชัชนี จึงก่อตั้งชมรม OPPY ขึ้นเพื่อให้ตนเองและเพื่อนผู้สูงวัยได้ก้าวทันโลกและสามารถขยายเครือข่ายได้มากขึ้นจนปัจจุบันนี้เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยมีจำนวนสมาชิกราว 3 พันคน 

 

การเรียนการสอนผู้สูงวัยอาจแตกต่างจากวัยหนุ่มสาว ดังนั้นวิธีการสอนจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป สอนย้ำจนจำได้ เนื่องจากผู้สูงวัยมักยังไม่กล้าจับเมาส์ หรือบางครั้งอาจมองแป้นพิมพ์ไม่ถนัดด้วยข้อจำกัดของสายตา รวมทั้งคำศัพท์เทคนิคที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากเราไม่ปิดกั้นตัวเองก็จะสามารถเรียนรู้ได้ บางคนเมื่อเรียนจบขั้นพื้นฐานก็เรียนต่อโปรแกรมอื่นเพิ่มเติม

 

“เวลาลูกเล็กเด็กแดงเขาพูดถึงอินเทอร์เน็ต เราก็นั่งอ้าปากหวอเพราะไม่รู้เรื่อง เด็กเขาเล่นเกม เขาก็ไม่อยากพูดกับเรา เท่ากับเราถูกผลักให้ไปอยู่มุมหนึ่ง ของอย่างนี้ไม่เสียหายที่เราจะเรียนรู้ เมื่อก่อนยังไม่มีที่จะเรียน ครั้นจะไปเรียนกับเด็กๆ ก็ไม่ได้ เพราะคนสูงวัยมีปัญหาเรื่องพิมพ์ดีด สายตาที่จะมองตัวอักษรก็ไม่ถนัด และที่กลัวมากๆ คือ ภาษาอังกฤษไม่คล่อง อีกอย่างคำศัพท์ต่างๆ ที่คนพูดกัน อีเมล แชต ของพวกนี้ถ้าเราไม่ปิดกั้นตัวเอง เราก็สามารถเรียนรู้ได้” ประธานชมรม OPPY กล่าว และย้ำว่าวิธีใฝ่หาความรู้นั้นมีมากมาย ตั้งแต่การพูดคุยกับผู้คน การอ่านหนังสือ หรือท่องโลกอินเทอร์เน็ตอย่างที่คุณหญิงทำอยู่เป็นประจำ

 

คบเพื่อนต่างวัย

ทุกวันนี้คุณหญิงชัชนีมีกิจกรรมทำไม่เว้นแต่ละวันจนเรียกว่า หาเวลาว่างได้ยากเต็มที สำหรับกิจวัตรประจำวันเริ่มต้นตั้งแต่ตี 5 ตื่นขึ้นมาก็ต้องเช็กอีเมลก่อน ทั้งนี้สิ่งที่คุณหญิงวัยใกล้ 80 ปี ย้ำคือ อย่าอายที่จะหาเพื่อนใหม่ ก่อนอื่นถ้าใครอีเมลมาเราต้องตอบ ขอบคุณ และรับทราบ แล้วจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมของคนที่คุยด้วย และที่สำคัญคือการมีเพื่อนหลากหลายวัย เพื่อจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ 

 

“สำคัญมากที่ต้องอัพเดตตัวเองตลอดเวลา นั่นหมายความว่า ต้องใฝ่รู้ ใจกว้าง หมั่นเปิดหูเปิดตา ในที่สุดอย่าคิดว่าต้องคบคนอายุเดียวกัน การคบเด็กๆ เขาจะเป็นคนสอนเรา เราก็เลือกว่าจะเอาอะไรที่เหมาะกับเรา เขาไปเต้นโคโยตี เราจะไปเต้นก็คงไม่ได้ อาจจะไปทำอะไรอย่างอื่นแทน”

 

อย่าขี้เหนียว

เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หลายคนอาจคิดว่า เพราะคุณหญิงชัชนี มีทุกอย่างพรั่งพร้อมแล้วถึงทำได้ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีใครสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเรื่องเงิน จึงต้องรู้จักใช้ บางคนมีเงินเยอะแสนจะขี้เหนียวเพราะคิดว่าเป็นของที่ควรจะสะสม แทนที่จะคิดว่า เรามีเท่านี้ก็พอแล้ว ที่เหลือช่วยอะไรใครได้ก็ช่วยไป แจกจ่ายเขาไปบ้าง เพราะตายไปก็เอาไปไม่ได้

 

มองทุกอย่างเป็นเรื่องขำๆ

บนโลกใบนี้มีเรื่องให้คิดให้เครียดมากมาย ขึ้นอยู่กับวิธีการมองว่าจะเลือกมองมุมไหน การมองทุกอย่างเป็นเรื่องสนุกและไม่ซีเรียสก็จะไม่ทำให้เราแก่เร็ว บางอย่างอาจทำให้หงุดหงิด หรือไม่ได้อย่างที่คิด ลองตั้งสติพิจารณาว่า เรื่องนั้นเสียหายกับใครหรือเปล่า ถ้าไม่ก็ปล่อยไป อย่าเอาความหงุดหงิดของเราไปใส่ให้คนอื่น เมื่อมีอารมณ์ขันก็จะทำให้ปัญหาทุกอย่างเบาบางลง

 

เป็นคนแก่ที่ทันสมัย

อายุเท่าไหร่ถึงเรียกว่า “แก่” คนเราเมื่ออายุมากขึ้นต้องรู้ตนเองว่าควรจะแต่งกายอย่างไรให้พอดี พอเหมาะ บางครั้งการปล่อยเนื้อปล่อยตัวมากเกินไปอาจทำให้ไม่น่าประทับใจสำหรับผู้พบเห็น แต่หากผู้สูงวัยทำตัวให้สดใส มองโลกในแง่ดี แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากเข้ามาคุยด้วย “ผู้สูงวัยไม่จำเป็นต้องบอกว่า แก่ เพราะคำว่าแก่ มันรู้สึกเหมือนไม่มีคุณค่า แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยเรายังมีคุณค่าอยู่ ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ต้องอย่าท้อแท้ และเปิดใจกว้าง ยอมรับสภาพว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว” 

 

อัพเดตข่าวสารตลอดเวลา

ขณะที่ พรพรรณ บุลเนอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลภาพรวมการจัดงานของอิมแพ็ค และทำงานร่วมกับคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งความเรียบร้อยเพื่อให้ตรงตามคอนเซปต์งานที่วางไว้ เหตุนี้เธอจึงต้องอัพเดตข้อมูลข่าวสารรอบตัวตลอดเวลา เริ่มจากตื่นแต่เช้าตอนตี 5 จะดูข่าวทีวี เพื่ออย่างน้อยจะได้รู้ว่ามีหัวข้อข่าวอะไรบ้างที่น่าสนใจ จากนั้นระหว่างขับรถมาทำงานก็จะเปิดวิทยุฟังข่าวอีกครั้ง เมื่อมาถึงที่ทำงาน หากมีประเด็นไหนเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ ก็จะต้องหาหนังสือพิมพ์มาอ่านเพื่อเจาะรายละเอียด รวมทั้งข่าวสารบันเทิงที่ควรจะต้องรู้ความเคลื่อนไหวด้วย

 

“ข้อมูลเหล่านี้เราต้องเก็บเกี่ยวทุกวันและสะสมความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราจะหยุดนิ่งไม่ได้ ถามว่าจะทำให้ชีวิตยุ่งไปไหม ถ้าเราทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน หรือเป็นส่วนหนึ่งเราก็จะไม่รู้สึกว่ายัดเยียดเป็นการแฮปปี้ที่จะรับรู้ข่าวสาร ตัวเราเองก็ตื่น สมองก็ตื่นไปด้วย ในขณะเดียวกันเราก็ได้ความรู้”

 

เปิดโลกให้บาลานซ์

นอกเหนือจากการทำงานอย่างเต็มที่ สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มความทันสมัยในชีวิตของผู้บริหารวัย 46 ปี คือ การผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีร้องเพลง นั่นเพราะความชอบฟังและร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เธอรู้สึกสดชื่นยามได้ฟัง รวมทั้งหากเป็นวันศุกร์-เสาร์ ก็อาจจะมีสังคมกับเพื่อนด้วยการไปเปิดหูเปิดตาด้วยการไปรับประทานอาหารกับเพื่อนฝูง เพื่อจะได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ยิ่งไปกว่านั้นหากยังเป็นการสร้างคอนเนกชันระหว่างเพื่อนด้วยกันได้อีกด้วย เพราะหากอยู่บ้านหรืออยู่แต่สำนักงานก็คงไม่มีโอกาส

 

“เราอย่าหยุดตัวเอง ชีวิตยังเดินหน้าได้อีก เพราะอายุก็เป็นเพียงตัวเลข สำหรับในเรื่องความสมาร์ต เรามองเรื่องความรู้ อย่าไปหยุดนิ่ง ตามข่าวให้ทัน และพยายามพัฒนาตัวเอง ส่วนแฮปปี้ เราก็ต้องบาลานซ์ตัวเอง ไม่มุ่งอยู่แค่ออฟฟิศ สังคมข้างนอกก็เป็นประโยชน์กับเรา โดยการสังสรรค์ และสร้างเน็ตเวิร์ก นอกจากเราได้ผ่อนคลายแล้ว ก็ยังได้เรื่องของธุรกิจด้วย” พรพรรณ กล่าวทิ้งท้าย 

 

ไม่ว่าวัยจะล่วงเลยไปไกลแค่ไหนหรือแม้สังขารจะร่วงโรยไปเท่าใดแต่หากคุณพร้อมจะเปิดใจรับรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆชีวิตทันสมัยก็เกิดขึ้นได้เสมอ

 

หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์
Section แมกาซีน
วันที่ 14 พ.ค. 2550
รื่อง : เสาวณีย์เกษมวัฒนา 

 



Visitors: 190,416