เมื่อคนสูงวับยุคไฮเทค รู้เท่าทันโลกไซเบอร์

“ไซเบอร์” โลกที่วัยรุ่นคุ้นเคย ทั้งการท่องเน็ต แชต ส่งอีเมล์ ตลอดจนโปรแกรมการทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงขั้นผลิตงานกราฟิก ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ขัดเขินในการเข้าไปจับต้อง หรือ ทดลองใช้ของวัยรุ่นแต่อย่างใด

 

แต่ทว่า คนสูงอายุที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับโลกไฮเทค มีเพียงพิมพ์ดีดที่ให้หยิบจับ หรือเขียนแผ่นใสเพื่อนำเสนอผลงาน ต้องการเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย แต่กลับไม่มีช่องทางในการเข้าไปเรียนรู้

 

หมดยุคเขียนแผ่นใส

อุปสรรคในการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ คือ ไม่สามารถไปเรียนตามสถาบันสอนคอมพิวเตอร์ที่ต้องเรียนร่วมกับเด็ก ๆ ได้ เพราะความจำและความว่องไวของการเรียนรู้ต่างกับวัยรุ่น นายทรงพล มะลิกุล คุณพ่อของผู้กำกับชื่อดัง จิระ มะลิกุล เล่าให้ฟังถึงโอกาสในการเรียนรู้อมพิวเตอร์ในอายุ 70 ปี ว่า ไม่กล้าเข้าไปนั่งเรียนกับเด็ก ๆ ทั้งที่ตามสถาบันสอนคอมพิวเตอร์มีให้เลือกเรียนหลายแห่ง เกรงว่าจะไปถ่วงเวลาเรียนของคนอื่น

 

แต่ด้วยความที่ต้องการเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ หลังจากที่เกษียณอายุ ผ่านการทำงานหลายอย่าง ทั้งอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม จ.ลพบุรี และอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้บรรยายในสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยระดบปริญญาโท มีความจำเป็นต้องนำเสนอผลงาน สิ่งที่ทำก็คือ เขียนแผ่นใส

 

จุดประกายที่ทำให้ต้องตัดสินใจหาที่เรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ หลังจากได้ไปงานสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เนื้อหาของสัมมนาช่วงหนึ่งบอกว่า การที่คน ๆ หนึ่งจะก้าวหน้าได้นั้น นอกจากมีความรู้ และคุณธรรมแล้ว ยังต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตด้วย แล้วก็มีโอกาสเห็นโบรชัวร์เรียนคอมพิวเตอร์ของชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY: Old People Playing Young Club) จึงเข้ามาเรียนในทุกหลักสูตรที่ชมรมจัด นำความรู้ด้านการทำพาวเวอร์พอยท์ไปนำเสนองานแทนการเขียนแผ่นใส รับ-ส่ง งานทางอีเมล์ แบบสะดวกและปลอดภัย

 


พล.อ.ท. ดิเรก สังข์สุวรรณ (ซ้าย) และ คุณทรงพล มะลิกุล (ขวา)

 

เช่นเดียวกับ พล.อ.ท ดิเรก สังข์สุวรรณ อายุ 73 ปี ทำงานด้านสืบราชการลับ ก็ใช้ความรู้ที่ได้นำมาใช้ประโยชน์กับงานที่ทำ อย่างเห็นได้ชัดก็คือ การทำพาวเวอร์พอยท์ แทนการเขียนแผ่นใส นอกจากนี้ยังสนุกสนานกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการตัดแต่งภาพ ทำการ์ดวันเกิด ปฏิทิน เพื่อมอบให้กับเพื่อน ๆ อีกด้วย

 

สร้างรายได้แบบไม่รู้ตัว

 ขณะที่ผู้สูงวัยบางราย นำมาสร้างรายได้ให้กับตนเอง นายสุภัทร์ กิตติภิญโญ อดีตนักธุรกิจผู้ค้าสินค้าส่งออก เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ของการเรียนคอมพิวเตอร์ว่า นอกจากการค้นคว้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังเจอช่องทางหารายได้แบบไม่ต้องเครียดด้วย นั่น คือการนำของสะสมที่หายาก ต้นทุนไม่ถึง 100 บาท มาประกาศขายในิีเบย์ นอนหลับอยู่ ตื่นขึ้นมาก็ได้เงินแสน เพราะของแตะละชิ้นขายได้ในราคา 500 - 1,000 บาท เดือนละ 10 ชิ้น นับว่าเป็นรายได้ที่ดีสำหรับคนในวัยเกษียณ

 

หายคนอาจไม่คาดคิดว่า คนสูงวัยเหล่านี้ยังสนใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ โดยเฉพาะสิ่งที่ยากอย่างคอมพิวเตอร์ แต่พวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องยาก หากต้องการเรียนรู้ และผู้สูงวัยที่เรียนคอมพิวเตอร์ผ่านชมรม OPPY แล้วถึง 3,000 คน

 

รู้ทันโลกไอที

 ชมรม OPPY เปิดดำเนินการมาได้ 7 ปีแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกชมรมอายุ 45 ปีขึ้นไป มาเรียนรู้การใช้คอมพิงเตอร์เบื้องต้น นางสาวสุธีรา จำลองศุภลักษณ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายเลิร์นนิ่งมีเดีย บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะครูใหญ่ของชมรม เล่าให้ฟังว่า ชมรมมีสมาชิกกว่า 3,000 คน ช่วงแรกเน้นการให้ความรู้เฉพาะทักษะในการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้มีความรู้เบื้องต้นไปจนถึงขั้นผลิตงานจากโปรแกรมต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น พาวเวอร พอยท์, โฟโต้ ช็อป, อินเทอร์เน็ต, อีเมล์ ไปจนถึงการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล เพื่อให้ผู้สูงวัยทันโลกไซเบอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในช่วงวัยรุ่นมาก

 


สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ (ครูเจี๊ยบ) ครูใหญ่ชมรมโอพีพีวาย

 

สำหรับสมาชิกที่เข้าร่วมทำกิจกรรมกับชมรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ยังทำงานอยู่ คือ อายุช่วง 50 - 60 ปี และเป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง ต้องการเรียนเพื่อรู้เท่าทันลูกน้อง และในบางเรื่องต้องลงมือปฏิบัติเอง เช่น การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การอ่านอีเมล์ 

 

หลังจากจบหลักสูตร สมาชิกมีความมั่นใจในการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น มี Thumb Drive ติดตัวเป็นประจำ หากมีการพูดถึง การไรต์ ซีดี ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาของสมาชิกชมรมไปแล้ว

 

หนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย
คอลัมน์ Digital Age 
วันจันทร์ที่ 17 - วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2550 หน้า 9

Visitors: 189,558