OPPY จุดประกายสูงวัยท่องโลกไซเบอร์

"การที่ให้ผู้สูงวัยรู้จักใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้มีความภูมิใจและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ารวมไปถึงใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์และมีความรู้กว้างขวางมากขึ้นเช่นอ่านข่าวบนเว็บหรือทำงานในด้านต่างเป็นต้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นทักษะจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับโลกที่กำลังพัฒนาได้อย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน"

 

เสียงจาก "คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช" ประธานชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (Old People Playing Young Club : OPPY Club) ผู้ขับเคลื่อนให้สังคมเห็นความสำคัญของการใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยได้เล่าถึงที่มาของของชมรมนี้หลังจากที่อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้สูงวัยในต่างประเทศมีเพิ่มสูงขึ้น แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีผู้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร รวมทั้งไม่มีพื้นที่รองรับการสอนคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้สูงวัยมากนัก

 

ทั้งนี้ คุณหญิงได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ผู้สูงวัยต้องพยายามเรียนรู้ที่จะขับรถ เพราะมีความจำเป็น ทั้ง ๆ ที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุสูง จนกระทั่งปัจจุบันผู้สูงวัยส่วนใหญ่ขับรถกันให้เห็นมากขึ้น ดังนั้นคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับการขับรถยนต์เช่นกัน

 

“เมื่อคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสารของคนในสังคมไปแล้ว ผู้สูงอายุก็มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ใช้งานเป็น แต่ปัญหาอยู่ที่ ขาดที่เรียน หรือศูนย์การสอนที่เจาะจงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งถ้าไปเรียนกับเด็ก หรือบุคคลทั่วไป อาจจะไม่เหมาะสม เพราะเรียนตามไม่ทัน ทำให้ขาดความมั่นใจ ดังนั้น OPPY ที่ตั้งอยู่ ณ อาคารสิริภิญโญ ย่านพญาไท จึงต้องเกิดขึ้น เพื่อให้ความรู้ และสอนทักษะพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์แก่ผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ ”

 

"มีอยู่หนึ่งคน ซึ่งมองแล้วไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องมาเรียน แต่เคยถามเขาว่า มาเรียนทำไม เขาบอกว่า อยากมาเรียนเอ็กเซล เพราะอยากทำบัญชีเอง จะได้ไม่ต้องพึ่งลูกน้องตลอดไป ซึ่งของเหล่านี้มันจำเป็นต้องใช้ให้เป็น เพื่อที่จะไม่ต้องนั่งว่างๆ อยู่บ้านเฉยๆ ลูกหลานถาม หรือเล่นอะไรจะได้เข้าใจ และตอบคำถามได้ เช่น เวลาลูกหลานไปเรียนต่อ ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ จะได้พูดคุยผ่านกล้อง ส่งข้อความ หรือรูปภาพผ่านอินเทอร์เน็ตได้เลย" ประธานชมรม OPPY เล่า

 

ชมรม OPPY เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งมีคนขอสมัครเข้าร่วมเรียนเป็นจำนวนมาก ส่วนคำว่า OPPY นี้มีที่มาจากที่ลูกชายของคุณหญิงมักพูดอยู่เสมอว่า ‘แก่แล้วยังเล่นเป็นเด็ก’ จึงเอามาตั้งเป็นชื่อชมรม และเปิดทำการสอนมาจนถึงทุกวันนี้

 

เสียงจากคุณครูถึง (คุณ) ลูกศิษย์

 นับเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนที่จะเข้ามาสมัครเรียนเป็นอย่างมากในเรื่องของการเรียนการสอนสำหรับที่นี่ เมื่อนักเรียนที่มีอายุเป็นเพียงตัวเลขจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจมาเรียนเพราะลูกหลานที่บ้านไม่ยอมสอน หรือสอนไม่รู้เรื่อง ได้มาเรียนกับเพื่อนวัยเดียวกัน และมีครูที่เข้าใจธรรมชาติของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนึ่งในคุณครูของที่นี่คือ "คุณศตพร ชั่นฮง หรือครูนก" คุณครูรุ่นลูก รุ่นหลานของบรรดาคุณลูกศิษย์ทั้งหลาย

 

ครูนกเล่าว่า ที่นี่มีนักเรียนตั้งแต่อายุ 30 กว่า ๆ ไปจนถึง 89 ปี ซึ่งอายุโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 ปี โดยสิ่งที่ครูของที่นี่ต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ เราต้องพูดช้าๆ ย้ำๆ และชัดๆ อีกทั้งยังต้องใจเย็นพอที่จะรอและเข้าใจผู้สูงวัยด้วย

 

“เราต้องเปรียบเทียบกับสิ่งรอบตัวเพื่อให้เขาเห็นภาพ เช่น CPU ทำหน้าที่เป็นสมองกล ซึ่งมันก็เปรียบเสมือนสมองของเรา หรือเครื่องยนต์ของรถยนต์ ดังนั้นหากคอมพิวเตอร์ไม่มี CPU มันก็จะไม่สามารถทำงานได้”

 

 
ครูนก-ศตพร ชั่นฮง ทุ่มใจสอน อย่างตั้งใจ

 

แม้ว่าการเรียนการสอนจะต่างไปจากที่เรียนอื่นๆ ระยะเวลาในการเรียนรู้ของสมาชิกจะต้องใช้เวลานานกว่าเด็กๆ แต่ OPPY จะสอนพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ เช่น ปิด-เปิดเครื่อง พิมพ์งาน หรืออินเทอร์เน็ต ตลอดจนพื้นฐานการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) เข้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และเมื่อจบหลักสูตรพื้นฐานแล้ว ทางชมรมจะมีให้เรียนต่อในระดับขั้นที่สูงขึ้น นั่นคือ การถ่ายภาพ เรียนโปรแกรมเพื่อการทำงานด้านเอกสาร หรือการนำเสนองาน เรียนการใช้โปรแกรมกราฟิก โปรแกรมแชต เป็นต้น

 

ครูนกเล่าอีกว่า การสอนแต่ละครั้งเราต้องดูบรรยากาศในห้องเรียนด้วย เพราะจุดประสงค์ของเราต้องการให้พวกเขามีความสุขที่ได้ทำ เราจะไม่บังคับว่าต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้

 

เคยมีลูกศิษย์ท่านหนึ่งบอกว่าเจ็บใจมากที่หลานมาว่าย่าไม่รู้เรื่องไม่ทันสมัยก็เลยมาเรียนคอมพิวเตอร์กับเราซึ่งในที่สุดแล้วหลานคนนั้นต้องมาถามย่าว่าที่โรงเรียนสอนอะไรย่าบ้างย่าสอนเขาหน่อยได้มั้ยซึ่งเขารู้สึกภูมิใจมากที่เขาได้สอนคอมพิวเตอร์ให้หลาน

 

เสียงจาก (คุณ) ลูกศิษย์ถึงลูกหลาน

"คุณชัยเทพภัทรพรไพศาลหรือ Mr.Lee" เจ้าของกิจการ Lee Cafe, Lee Kitchen และLee Place หนึ่งในผู้ที่สนใจเรียนคอมพิวเตอร์กับ OPPY เล่าถึงที่มาของการเรียนในครั้งนี้ว่า "เมื่อก่อนตอนเรียนอยู่ต่างประเทศ เขาก็มีให้เรียน แต่พอกลับมา เมืองไทยยังไม่มีเลย คอมพิวเตอร์ยังเข้าไม่ถึงบ้านเรา ผมเองก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ แต่ปัจจุบันนี้การเรียนรู้มันกว้างขึ้น คอมพิวเตอร์มันเปิดโลกกว้างให้เรามากกว่าเดิม ที่สำคัญ เรากำลังอยู่ร่วมสมัยกับเด็กรุ่นลูก รุ่นหลาน"

 

 
คุณชัยเทพ ภัทรพรไพศาล หรือ Mr.Lee

 

ขณะที่เด็กเล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าคุยกับเราอาจจะเป็นเพราะเรากับเขาคุยกันคนละภาษาดังนั้นเราต้องตามเขาให้ทันถ้าเด็กยอมรับเราเราก็ไม่เป็นทุกข์ อีกทั้งต้องสั่งงานลูกน้องทำงานกับเด็กอีก 2 รุ่นซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ถ้าเราไม่รู้จักการใช้มันมันก็จะเป็นอุปสรรคในการสั่งงานและถ้าเราไม่ขวนขวายที่จะเรียนไม่มีอะไรในสมองสมองก็จะฝ่อเร็วอีกด้วย” คุณชัยเทพอธิบาย

 

เมื่อถามถึงลูก ๆ ที่บ้าน ก็ได้คำตอบจาก Mr.Lee ว่า ลูกจะเป็นผู้ให้คำปรึกษามากกว่า เขาจะไม่เหมือนครูที่นี่ เพราะลูกจะบอกวิธีการเราเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น แต่ที่นี่จะสอนเราอย่างละเอียดและใจเย็น

 

“นอกจากได้เรียนคอมพิวเตอร์แล้ว มาที่นี่ยังได้เพื่อน ได้สังคมด้วยนะ เพราะฉะนั้นอยากฝากถึงทุกคนที่สนใจเรียนคอมพิวเตอร์แต่ไม่กล้าที่จะรู้จักกับมันว่าอย่าคิดว่าการเรียนเป็นเรื่องน่าอายโดยเฉพาะการเรียนคอมพิวเตอร์ไม่ต้องไปอายเด็กหรอกเพราะเด็กกับเราไม่เหมือนกันขอให้นึกไว้เสมอว่าไม่ว่าใครคนไหนก็ต้องเรียนรู้ไปจนวันตาย

 
คุณชมศรี นันทวานิช อดีตบรรณารักษ์ของสถาบัน Asian Institute of Technology (AIT)

 

ส่วนทางด้าน "คุณชมศรี นันทวานิช" อดีตบรรณารักษ์ของสถาบัน Asian Institute of Technology (AIT) แม้จะไม่ใช่นักเรียนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มจับเมาส์ เพราะด้วยหน้าที่การงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แต่คุณชมศรีกลับใช้เวลาว่างส่วนหนึ่งมาเรียนเพิ่มเติมด้วยเหตุผลที่ว่าอยากแต่งรูป และสามารถท่องไปในโลกไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น

 

“สมัยที่เรียนที่อเมริกานั้น เขาก็เริ่มสอนกันบ้างแล้ว แต่ไม่ได้สนใจเพราะไม่ได้ใช้ เวลาจะติดต่อครอบครัวที่เมืองไทยก็จะเขียนจดหมายส่งกลับมา แล้วตอนนั้นก็ใช้แต่เครื่องพิมพ์ดีดเท่านั้น”

 

“ส่วนในช่วงที่ทำงานเราใช้แต่ระบบขององค์กรเท่านั้น นอกเหนือจากที่องค์กรสอนก็ไม่สามารถทำได้ พอไปเที่ยวก็เริ่มอยากเอารูปลงเครื่อง แต่งภาพ ทำการ์ดตามที่เราอยากทำ มันก็เลยอยากเรียนเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อเราได้เรียน มันทำให้หูตาเรากว้างไกลมากขึ้น” คุณชมศรีเล่า

 

อย่างไรก็ดี คุณชัยเทพและคุณชมศรีต่างมีความเห็นที่ตรงกันว่า การเรียนคอมพิวเตอร์สำหรับผู้สูงวัยนั้นนอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์หรือการอัปเดตตัวเองให้ทันสมัยอยู่เสมอแล้วสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือความสามารถเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถ "เข้าถึงและเข้าใจ" การใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกหลานด้วยว่าเขากำลังทำอะไรอยู่เกมที่เขาเล่นมันรุนแรงหรือไม่เว็บที่เขาดูมันเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง

 

ASTV ผู้จัดการออนไลน์  
วันที่ 17 มิถุนายน 2552

Visitors: 186,926