ดอกนางแย้ม

ดอกนางแย้ม (Clerodendrum Chinense)

 

นางแย้มเป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อน ลำต้นค่อนข้างตรง มีความสูงประมาณ 1.-1.5 เมตร เจริญเติบโตเร็ว ปลูกได้ดีทั้งกลางแจ้งและที่ร่มรำไร (แดดประมาณ 50%) การปลูกในที่ร่มรำไรจะเหมาะสมที่สุด ถ้านางแย้มโดนแดดแรง ๆ ใบจะเหี่ยวได้ง่ายมาก แต่ถ้าเห็นว่าใบเหี่ยว เพียงแค่รดน้ำให้ดินชุ่ม ไม่นานนางแย้มก็จะฟื้นตัว 

 

 

 

นางแย้มเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์รวดเร็วมาก ควรเริ่มต้นปลูกครั้งแรกเพียงต้นเดียวก็พอ เพราะไม่นานนางแย้มก็จะแตกต้นใหม่ ซึ่งเกิดจากรากที่อยู่ใกล้ผิวดิน และถ้าไม่ควบคุมการขยายพันธุ์ของนางแย้ม เราอาจจะได้ “ดงนางแย้ม” มาเต็มพื้นที่ก็เป็นได้ ดังนั้น การขยายพันธุ์นางแย้มนั้นง่ายมาก เพียงแค่ขุดต้นอ่อนที่เกิดจากราก แล้วอาจจะนำไปปลูกลงกระถาง เพื่อจำกัดพื้นที่การขยายพันธุ์ก็ได้

 

 

 

ดอกนางแย้ม ออกดอกเป็นช่อตามยอดและปลายกิ่ง ดอกจะเบียดเสียดติดกันแน่นในช่อ ดอกย่อยจำนวนมาก สีขาวอมม่วงแดง รูปทรงของดอกคล้ายดอกมะลิซ้อน ช่อดอกคล้ายการนำดอกมะลิซ้อนหลาย ๆ ดอกมาจัดรวมกันเป็นบูเก้ กลีบเลี้ยงเรียวยาวสีม่วงแดงเรื่อ ดอกย่อยบานไม่พร้อมกัน ส่วนบนจะบานก่อน มีกลิ่นหอมตลอดวัน ออกดอกตลอดปี 

 

 

 

 

 

ใบนางแย้ม ลักษณะของใบคล้ายใบโพธิ์ ขึ้นสลับตามข้อของลำต้น ใบกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร ผิวใบมีขนละเอียดปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน ผิวใบสากระคายมือ ตรงปลายแหลมแต่ไม่มีติ่ง ขอบใบหยัก รอบใบเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ เมื่อเด็ดใบแล้วนำมาขยี้จะมีกลิ่นเฉพาะ

 

 

 

ชื่อสามัญ: Glory bower, Rose clerodendrum, Burma conehead, Lady nugent’s rose

ชื่อวิทยาศาสตร์: Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum fragrans (Vent.) R.Br., Clerodendrum fragrans Willd., Clerodendrum philippinum Schauer) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

ชื่อท้องถิ่น: ปิ้งสมุทร (เชียงใหม่), ป้องช้อน ปิ้งชะมด (ภาคเหนือ), ส้วนใหญ่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ปิ้งหอม กะอุมเปอ เป็นต้น

ถิ่นกำเนิด: นักวิชาการเชื่อว่าต้นนางแย้มนั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่เกาะชวาและเกาะสุมาตรา ส่วนนางแย้มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนั้นคือต้น "นางแย้มป่า" (Clerodendrum infortunatum L.)

 

 

ที่มา: https://medthai.com/นางแย้ม/

 

เรียบเรียงข้อมูล & ถ่ายภาพ: ครูเจี๊ยบ OPPY CLUB
สนับสนุนโดย:  LOXLEY CSR

Visitors: 210,698