สำหรับผู้ป่วยและญาติ
การดูแลผู้ป่วยใส่คาสายสวนปัสสาวะ
ผู้ป่วยได้รับการคาสายสวนปัสสาวะในระยะสั้น หรือนานขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและแผนการรักษา ดังนั้นผู้ป่วย/ ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องปฎิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคาสายสวนปัสสาวะดังนี้คือ
1. ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย

2. การติดพลาสเตอร์ยึดตึงสายสวนปัสสาวะ เพื่อป้องกันการดึงรั้ง โดย
2.1. เพศหญิง ติดบริเวณหน้าขา
2.2. เพศชาย ติดบริเวณท้องน้อยหรือต้นขา หน้าขาหนีบ
.jpg)
3. การดูแลการระบายปัสสาวะ
3.1. ดูแลไม่ให้สายสวนปัสสาวะหัก พับงอหรือดึงรั้งท่อปัสสาวะ
3.2. ดูแลบีบรัดสายยาง (milking) บ่อยๆ เพื่อป้องกันตะกอนหรือสิ่งอุดตัน โดยใช้มือข้างหนึ่งจับสายยางให้อยู่กับที่ ขณะที่มืออีกข้างบีบรัดสายยางออกจากตัวผู้ป่วย
3.3. ถุงปัสสาวะควรอยู่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะแต่สูงกว่าพื้น
3.4. ดื่มน้ำอย่างน้อย 8-10 แก้ว (กรณีแพทย์ไม่จำกัดน้ำ)
3.5. เทปัสสาวะในถุงเก็บ ทุก 8 ชั่วโมง หรือ เมื่อมีปัสสาวะ 2/3 ของถุง แต่ไม่ควรให้เต็มถุง เพราะจะทำให้ไหลย้อนกลับเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้
3.6. ก่อนและหลังจากเทปัสสาวะควรเช็ดด้วยสำลีชุบ 70% alcohol

4. ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์
* วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) และทุกครั้งภายหลังถ่ายอุจจาระ
5. การเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ กระทำเมื่อ
5.1. ถุงเก็บปัสสาวะ/ สายสวนรั่ว ให้เปลี่ยนทั้งชุดใหม่
5.2. ควรทำเมื่อจำเป็น เนื่องจากการเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะบ่อยๆ ทำให้อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดย ครั้งแรกควรเปลี่ยนเมื่อใส่นาน 2 สัปดาห์แต่ถ้าไม่พบหินปูนที่ปลายสาย ครั้งต่อไปปรับเป็น 4, 6 และ 8 สัปดาห์ ตามลำดับจนกว่าจะพบหินปูน

6. กรณีข้อต่อสายสวนปัสสาวะหลุด ควรเช็ดด้วยสำลีชุบ 70% alcohol ก่อนแล้วจึงต่อกลับคืน
7. กรณีมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรผูกมัด (clamp) สายสวนทุกครั้งเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของปัสสาวะและปล่อย clamp เมื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเสร็จ

8. บันทึกจำนวนปัสสาวะในแต่ละวัน เพื่อดูปริมาณของปัสสาวะ และสังเกตหากมีอาการผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการสวนปัสสาวะ
- การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ 1-5%
- คาสายสวนนาน 3-4 วัน ติดเชื้อ 20-25%
- การอุดตันของสายสวนปัสสาวะ
- การรั่วซึมของปัสสาวะ
- ความไม่สุขสบายจากการสวนปัสสาวะ
- การบาดเจ็บต่อท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
- การตีบของท่อปัสสาวะ
- การแพ้สายสวน (พบน้อย)
- มีโอกาสเกิดมะเร็งได้ถ้าใส่สายคาไว้นานๆ
อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ทันที
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปัสสาวะแดง หรือ มีหนอง หรือ ขุ่น เป็นตะกอน
- ปวดท้อง
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น
- ปวดแสบร้อนบริเวณท่อปัสสาวะ
(ที่มา : งานสุขศึกษาและงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล โรงพยาบาลปทุมธานี)