การดูแลแนะนำในระยะแรก
- นอนหงายหรือนอนตะแคงไปด้านตรงข้ามด้านที่ผ่าตัด ห้ามนอนตะแคงไปทางด้านที่ผ่าตัด เพื่อป้องกันการคั่งของเลือดและน้ำเหลือง ในกรณีที่นอนหงายก็ให้กางแขนออก เอาหมอนหนุนแขนให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ ในกรณีที่นอนตะแคงด้านตรงข้าม ก็ให้เอาแขนโอบวางบนหมอน
- วันแรกหลังผ่าตัด ถ้าคนไข้ไม่เวียนหัวจากฤทธิ์ยาสลบ ก็ให้ลุกจากเตียงได้ตามปกติ โดยให้คนไข้พยายามยกเหยียดแขนขึ้น – ลงด้านที่ผ่าตัด โดยยกขึ้นสุดเหนือหัวและลงวันละ 10 ครั้ง เพื่อให้ของเหลวที่หลงเหลือจากการผ่าตัด ออกมาตามสายระบายของเหลวให้หมด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการติดแข็งของข้อไหล่
- ให้คนไข้ใช้แขนด้านที่ไม่ผ่าตัดทำกิจกรรมต่างๆ แทน และพยายามกางแขนด้านที่ผ่าตัดออก และวางในระดับที่สูงกว่าหัวใจเพื่อป้องกันไม่ให้แขนบวม
การแนะนำดูแลระยะหลัง
ภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา ในระยะหลังได้แก่ การติดของข้อไหล่ และแขนอาจจะบวม จึงควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว
- ห้ามใช้แขนด้านที่ผ่าตัด ทำกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานเกิน 10 นาที เช่น การซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ฯลฯ เพราะจะทำให้เกิดเลือดและน้ำเหลืองคั่งจากการไหลกลับไม่ทัน ทำให้แขนบวมได้
- เวลาพัก หรือเมื่อมีโอกาส พยายามนั่งข้างโต๊ะและเอาแขนข้างที่ผ่าตัดวางบนโต๊ะ โดยพยายามวางแขนให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าหัวใจ
- ทุกๆ วันจะต้องฝึกยกแขน โดยยืนชิดกำแพง
ท่าแรก หันหน้าเข้ากำแพง และเหยียดแขนเข้ากำแพงประมาณ 90 องศา แล้วใช้นิ้วค่อยๆ ไต่กำแพงขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุด แขน รักแร้ ลำตัว ต้องแนบกับกำแพงได้ โดยไต่ขึ้น – ลง ประมาณ 10 ครั้งต่อวัน
ท่าที่สอง หันข้างเข้ากำแพงและเหยียดแขนเข้ากำแพงประมาณ 90 องศา แล้วใช้นิ้วค่อยๆ ไต่กำแพงขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุด แขน รักแร้ และด้านข้างของลำตัวต้องแนบกับกำแพงได้ โดยไต่ขึ้น – ลงประมาณ 10 ครั้งต่อวัน
(ที่มา : กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลปทุมธานี)