โรคนี้คนไทยมักเรียกกันว่า โรคอัมมพฤกษ์ อัมพาต โรคนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. โรคหลอดเลือกสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้สมองบางส่วนขาดเลือด หรือ มีเนื้อสมองตายซึ่งมีสาเหตุจาก
- หลอดเลือดแข็ง มักพบในวัยผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้สูบบุหรี่
- โรคหัวใจที่มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง
- หลอดเลือดสมองอักเสบ
- โรคบางชนิด
2. โรคหลอดเลือดสมองแตก
ทำให้มีเลือดออกมาคั่ง และทำลายเนื้อสมองบริเวณนั้น หรือ อาจกดเบียดเนื้อสมองส่วนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้สมองส่วนนั้นทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ สาเหตุเกิดจาก โรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองผิดปกติแต่กำเนิด
ปัจจัยเสี่ยง
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ บุคคลต่างๆ ที่มีโรคหรือภาวะต่างๆ ดังนี้
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- การสูบบุหรี่
- มีภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ขาดการออกกำลังกาย
- วัยสูงอายุ
- มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า เป็นโรคนี้
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
อาการอาจเกิดขึ้นหลายแบบ ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่เกิดโรค อาการมักเกิดอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใดหรือเป็นๆ หายๆ หรือค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาอันสั้น อาการที่พบได้บ่อยได้แก่
- แขน ขา อ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
- ชาครึ่งซีก
- เวียนศรีษะ ร่วมกับเดินเซ
- ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน
- พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
- ปวดศรีษะ อาเจียน
- ซึม ไม่รู้สึกตัว
** เมื่อมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทันที***
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
- งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด หลอดเลือดแดงแข็ง และตีบง่ายขึ้น
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพศและวัย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาที
- งดอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมัน หรือมีโคเลสเตอรอลสูง
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ทำจิตใจให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรตรวจสุขภาพร่างกายจากแพทย์เป็นประจำทุกปี ถ้ามีโรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ที่กินยาป้องกันการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
"ควบคุมและแก้ไขปัจจัยเสี่ยง จะหลีกเลี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้"
(แหล่งข้อมูล: สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย)
ที่มา: สำนักงานอนามัย กรุงเทพมหานคร
กองพัฒนาระบบสาธารณสุข