เป็นโรคที่มักพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคนี้มีการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนผิวข้อต่อ มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนอื่นๆ ของข้อเข่า ทำให้เกิดอาการปวด
สาเหตุที่มีส่วนทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม ::
-
อายุมากขึ้น
-
ข้อเข่าถูกใช้รับน้ำหนักมากหรืออยู่ในท่าที่ถูกกดพับมากเกินไป เช่น นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ
-
มีการบาดเจ็บหรือโรคอื่นๆ ที่มำให้กระดูกอ่อนตรงผิวข้อสึกกร่อน หรือมีความผิดปกติของกระดูกและข้อแต่กำเนิด
อาการ ::
-
ปวดเข่าหรือปวดขัดในข้อ โดยเฉพาะเวลานั่งยองๆ แล้วลุกขึ้น
-
เข่าอ่อนหรือเข่าขัดตึง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก
-
มีเสียงดังเวลาเคลื่อนไหวข้อ
-
ถ้าเป็นมากๆ หรือเรื้อรัง เข่าจะบวมและมีน้ำขังในข้อ บางรายเข่าจะผิดรูปเป็นขาโก่งเหมือนก้ามปูได้
จะทำอย่างไรเมื่อ...ปวดเข่า ::
-
เมื่อมีอาการปวดเข่าจากข้อเสื่อมโดยที่ไม่มีการอักเสบ บวมแดง ร้อน ควรใช้ผ้าขนหนูบางๆ ห่อกระเป๋าน้ำร้อนวางประคบรอบๆ เข่า นานครั้งละ 15 - 30 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
-
ควรพักเข่าข้างที่ปวด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการปวดเข่า เช่น ยกของหนักๆ ขึ้นลงบันได การนั่งในท่างอเข่า ยืนหรือเดินนานๆ
-
ควรใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวเวลาเดิน ซึ่งจะช่วยรับน้ำหนักตัว ทำให้เดินได้มั่นคง และเจ็บน้อยลง
-
ไม่ควรถูนวด ตัดข้อเข่าแรงๆ หรือจับเส้นโดยผู้ไม่มีความรู้ เพราะอาจทำให้ข้อเข่าบาดเจ็บได้
-
เมื่อเข่าหายเจ็บแล้ว ควรฝึกออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อเข่าตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
-
ถ้าปฏิบัติดังกล่าวแล้วอาการปวดเข่ายังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด ไม่ควรซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาชุด หรือยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้ |
|
การปฏิบัติเพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อม ::
ในปัจจุบัน โรคข้อเข่าเสื่อมยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อมหรือป้องกันมิให้อาการกำเริบจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยปฏิบัติดังนี้
1 . ระวังอย่าให้อ้วน ถ้าอ้วนควรลดน้ำหนักตัว โดย
-
กินอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน ปริมาณพอเหมาะไม่กินจุบจิบ
- ลดการกินอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน ของหวาน กะทิ
เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารมันๆ และอาหารทอดชนิดต่างๆ
- ควรกินผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อยเพิ่มมากขึ้น
2. ไม่ควรนั่งในท่างอเข่า เช่น พับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า นั่งยองๆ เป็นต้น ควรนั่งบนเก้าอี้ห้อยขา หรือนั่งขาเหยียดตรง อย่านั่งนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบทบ่อยๆ
3. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่า เช่น ยกของหนักเกินกำลัง ยืนหรือเดินนานๆ การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือเล่นกีฬาที่หักโหม
4. ควรฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อเข่าเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อ และเอ็นรอบเข่าแข็งแรง เพิ่มความทนทานในการใช้งาน ช่วยป้องกันและลดความพิการที่อาจเกิดขึ้นกับข้อเข่า โดยปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้
ท่านอนยกขา ::

นอนหงาย ใช้หมอนใบเล็กๆ หนุนใต้เข่าทั้ง 2 ข้าง เหยียดเข่าให้ตรง แล้วยกขึ้นตรงๆ ให้ส้นเท้าสูงจากพื้นประมาณ 1 ฟุต เกร็งไว้นาน 5 - 10 วินาที แล้วลดลง สลับเหยียดขาอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นนี้ข้างละ 10 - 15 ครั้ง วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น
ท่านั่งยกขา ::

นั่งบนเก้าอี้ห้อยขาในท่างอเข่า แล้วเหยียดเข่าตรงให้ขนานกับพื้น เกร็งไว้นาน 5 - 10 วินาที แล้วลดลง สลับเหยียดขาอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นนี้ข้างละ 10 - 15 ครั้ง วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น แต่ถ้าต้องการให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ควรใช้ถุงทรายถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้า โดยเริ่มครั้งละน้อยๆ ก่อน เช่น 0.5 กิโลกรัม หรือ 1 กิโลกรัม เป็นต้น
ที่มา: กองส่งเสริมสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร