ในอดีต เรามักเชื่อกันว่า อาการหลงลืมในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องปกติของคนที่มีอายุมากขึ้น เป็นการหลงลืมตามวัยยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็จะยิ่งหลงมากขึ้น แต่ความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ยังมีผู้ป่วยอีกส่วนที่มีอาการสมองเสื่อม ซึ่งเกิดจากทำงานของสมองใหญ่ผิดปกติ ทำให้มีผลต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งพฤติกรรม บุคลิกภาพ และอารมณ์
เราจำแนกกลุ่มอาการของความจำบกพร่อง ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- อาการหลงลืมตามวัย (Mild Cognitive Impairment) เป็นอาการหลงลืมเล็กๆ น้อยๆที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น การลืมของทิ้งไว้แล้วจำไม่ได้ว่าลืมไว้ที่ใด หรือจำชื่อบุคคลที่ไม่คุ้นเคยหรือ ไม่ได้พบบ่อยไม่ได้ เป็นต้น พบว่าในกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่ง จะเปลี่ยนแปลงเป็นอาการสมองเสื่อมได้
- อาการสมองเสื่อม (Dementia) เป็นการ หลงลืมที่มีการทำงานของสมองส่วนนอกเหนือจากความจำผิดปกติไปด้วย ทำให้มีผลต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน ซึ่งภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ และจะมีอาการเพิ่มขึ้นเป็นหลายๆ เดือน ถึงหลายๆ ปี
|

|
อาการที่เห็นเด่นชัดในผู้ป่วยสมองเสื่อม
- มีความบกพร่องในการรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่สามารถจดจำคำพูดระหว่างการสนทนา
- มีความบกพร่องในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน นึกชื่อสิ่งของไม่ออก ผิดปกติในการเรียกชื่อคน และสิ่งของ พูดไม่เป็น ประโยค หรือขาดความต่อเนื่อง
- มีความบกพร่องในการประกอบกิจวัตร และกิจกรรมประจำวัน ไม่สามารถทำกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำได้ จนในที่สุด จะมีลักษณะ กลับไปเป็นเหมือนเด็กๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- มีบุคลิกภาพ พฤติกรรม และอารมณ์ที่ผิดแปลกไปจากเดิม อาจกลายเป็นคนเฉยเมย ไม่กระตือรือร้น โมโหฉุนเฉียวง่าย ทำอะไรซ้ำซาก
- มีอาการนอนไม่ค่อยหลับ ระยะท้ายๆ อาจมีอาการทางจิต เช่น ภาพหลอน หรือหลงผิด เป็นต้น
สาเหตุของกลุ่มอาการสมองเสื่อม
สาเหตุของกลุ่มอาการสมองเสื่อมมีหลายสาเหตุ ทั้งที่รักษาได้ ชะลออาการ หรือยังไม่สามารถหาวิธี พบว่าประมาณ 5 % ของผู้ป่วยที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับความจำ เป็นกลุ่มที่มีสามารถรักษาหายจากอาการดังกล่าวได้ โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้ หายเป็นปกติหลังจากได้รับการ รักษาอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มซึ่งยังไม่สามารถรักษาให้หายหรือดีขึ้นได้ในปัจจุบัน ซึ่งในกลุ่มนี้สาเหตุใหญ่ มากกว่า 65 % เกิดจากโรคหรือกลุ่มอาการที่มีชื่อว่า อัลไซเมอร์ (Alzheimers Disease) ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ จะมีความผิดปกติอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายปี ทำให้ญาติที่ใกล้ชิดบอกระยะเวลาแน่ชัดไม่ได้ว่า เกิดขึ้นเมื่อใด และส่วนใหญ่ยังมีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ปกติ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์
- การสูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และพบว่ายิ่งมีอายมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง โดยเฉลี่ยผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะพบว่ามีโอกาสเป็นโรคนี้ 2 เท่าในทุกๆ อายุ 5 ปีขึ้นไป
- ประวัติในครอบครัวและกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีญาติพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ จะมีภาวะเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
- สิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีการศึกษาค้นคว้ามากขึ้น ในเรื่องของมลภาวะและสารพิษที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคนี้ แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด แต่ข้อมูลจากการศึกษาระบาดวิทยาพบว่า ประชากรบางแห่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูงกว่าที่อื่นๆ ของโลก
- ปัจจัยอื่นๆ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ซึ่งนำมาสู่การผลิตยาหรือสารอาหารบางอย่าง ซึ่งสร้างความเชื่อว่าจะช่วยรักษาชะลออาการหรือ ป้องกันภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้หลายสาเหตุ บางสาเหตุเมื่อรักษาแต่เริ่มต้นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางสาเหตุอาจป้องกันไม่ให้อาการทรุดลงได้ ส่วนในรายที่ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ญาติและผู้ป่วย ทราบถึงวิธีปฏิบัติตัวและข้อควรระวังต่างๆ เพื่อชะลออาการไม่ให้เลวลงกว่าที่ควรเป็น วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือการแทรกซ้อน รวมทั้งคำแนะนำต่างๆ ที่ญาติ และผู้ดูแลควรทราบเพื่อสนับสนุนให้การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ได้เข้าใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและญาติ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและปลอดภัย
ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์ระบบประสาท ร.พ.เซ็นทรัลเยนเนอรัล
โทร. 0-2552-8777
เว็บไซต์ http://www.cgh.co.th
อีเมล์: com@cgh.co.th